วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

โปรตีน (Protein)

เขียนโดย greenclinic   

โปรตีน (Protein)

โปรตีนเป็นส่วนประกอบของทุกโครงสร้างและของทุกสิ่งมีชีวิต อวัยวะที่เล็กที่สุดจนถึงใหญ่ที่สุดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จะประกอบด้วยโปรตีนในหลายรูปแบบ โปรตีนจึงเป็นส่วนประกอบทางเคมีที่จำเป็นที่ทำให้เราดำรงชีพอยู่ได้ ในร่างกายมนุษย์ โปรตีนเป็นตัวสร้างกล้ามเนื้อ ,กระดูก ,ผิวหนัง ,เลือด ,เอ็น ,อวัยวะ ,ต่อม ,ผม ,เล็บ ,เอนไซม์ ,ฮอร์โมน ,แอนติบอดี (ภูมิคุ้มกัน) และของเหลวต่างๆในร่างกาย (ยกเว้นน้ำดีและปัสสาวะ)
กรดอะมิโนเป็นหน่วยทางเคมี หรือเป็นรูปแบบเพื่อนำไปสร้างโปรตีน โปรตีนไม่สามารถถูกสร้างหรือคงอยู่ได้โดยปราศจากการรวมตัวกันของกรดอะมิโน และกรดอะมิโน มีส่วนประกอบของไนโตรเจนถึง 16% จึงแตกต่างจากคาร์โบไฮเดรต และไขมันในร่างกาย เมื่อรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนเช่น เนื้อสัตว์ ร่างกายต้องย่อยโปรตีนให้เป็นกรดอะมิโนอิสระ หรืออีกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กรดอะมิโนเดี่ยว (Amino Acid) ก่อนดูดซึมเข้าไปในเซลล์เพื่อสร้างโปรตีนที่ต้องการ
โปรตีนเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของกระดูก เอนไซม์ ฮอร์โมน และยีน ซึ่งนอกจากน้ำแล้ว โปรตีนก็เป็นส่วนประกอบหลักของร่างกายถึง 20% ของน้ำหนักตัว ฉะนั้นโปรตีน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อการมีร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพดี เพราะโปรตีนจะทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อของร่างกาย ซ่อมแซม และบำรุงรักษา เพื่อยืดอายุเนื้อเยื่อของร่างกาย ส่วนสารอาหารอื่น ๆ เพียงทำหน้าที่สนับสนุนเท่านั้น โปรตีนจำเป็นสำหรับการสร้างกระดูก เซลล์เม็ดเลือดแดง และภูมิต้านทานโรค และทำหน้าที่เป็นตัวนำออกซิเจนไปใช้ในร่างกายอีกด้วย
เพื่อให้ได้โปรตีนที่สมบูรณ์ กรดอะมิโนเฉพาะอย่างจะต้องประกอบตัวกันได้ดี ซึ่งกรดอะมิโน สามารถเรียงต่อกันในรูปแบบต่างๆเป็นโปรตีนได้ถึง 50,000 ชนิดที่แตกต่างกัน และ 20,000 ชนิดเป็นเอนไซม์ โปรตีนแต่ละชนิดเกิดจากการประกอบกันของกรดอะมิโนที่แตกต่างกันจำนวนมาก เชื่อมต่อกันเพื่อนำมาใช้ตามความจำเป็นเฉพาะแบบ ซึ่งไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้
เพื่อให้ร่างกายของเราใช้และสังเคราะห์โปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายต้องมีกรดอะมิโนจำเป็นมากพอในสัดส่วนที่พอเหมาะ การขาดกรดอะมิโนจำเป็นหนึ่งตัวเพียงชั่วคราว สามารถส่งผลถึงการสังเคราะห์โปรตีนได้ อันที่จริงแล้ว ไม่ว่ากรดอะมิโนจำเป็นตัวใดตัวหนึ่งจะมีระดับต่ำลงหรือร่างกายขาดแคลน จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของกรดอะมิโน ตัวอื่นๆ ทั้งหมดลดลงได้อย่างชัดเจน
ปริมาณโปรตีนที่ร่างกายต้องการโดยเฉลี่ยประมาณ 45 กรัมต่อวัน ทั้งนี้แต่ละคนมีความต้องการโปรตีนต่างกันไป ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างรวมถึง สุขภาพ อายุ และขนาดตัว โดยทั่วไปคือ ยิ่งรูปร่างใหญ่ และยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งต้องการโปรตีนเยอะ
ความแตกต่างของโปรตีน ชนิดต่างๆ โปรตีนแต่และประเภทไม่เหมือน กัน ถึงแม้ว่าพวกมันจะประกอบกันขึ้นมาจากกรดอะมิโน ชุดเดียวกันซึ่งมีอยู่ 23 ตัว แต่พวกมันมีหน้าที่ และการทำงานที่แตกต่างกันไปในแต่ละส่วนของร่างกาย โดยพื้นฐานแล้วโปรตีนจะถูกแบ่ง เป็น 2 กลุ่ม คือ
  • โปรตีนสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่มีกรดอะมิโนจำเป็นทั้ง 8 ในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ พบในอาหารที่มีต้นกำเนิดจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล ไข่ นม และชีส
  • โปรตีนไม่สมบูรณ์ ขาดกรดอะมิโนจำเป็นบางตัว และร่างกายไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหากรับประทานเดี่ยว อย่างไรก็ตาม หากนำมารับประทานร่วมกับโปรตีนจากสัตว์ แม้เพียงปริมาณเล็กน้อย ก็จะกลายเป็นโปรตีนสมบูรณ์ได้ พบได้ในเมล็ดพืช และถั่วประเภทต่างๆ 

การรับประทานทั้งโปรตีนสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ ร่วมกันจะให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าการรับประทานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น อาหารมื้อที่ประกอบด้วยข้าวและถั่วต่างๆ จึงมีคุณค่าทางอาหารสูง
หน้าที่ของโปรตีน
  • โปรตีนหลายชนิดทำหน้าที่เป็นเอนไซม์หรือหน่วยย่อยของเอนไซม์
  • โปรตีนทำหน้าที่ทางด้านโครงสร้าง เช่น ระบบเส้นใยของเซลล์ (cytoskeleton) ผม เส้น ไหม
  • โปรตีนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น แอกติน ไมโอซิน
  • เป็นภูมิคุ้มกันคอยปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ และจากเชื้อโรคต่างๆ
  • ขนส่งสารภายในระบบร่างกาย เช่น ฮีโมโกลบิน
  • เป็นแหล่งสำรองพลังงานยามขาดแคลน เช่นโปรตีนในเมล็ดข้าวและน้ำนม
  • โปรตีนที่เป็นฮอร์โมน
  • โปรตีนให้ความหวานในพืช
  • โปรตีนป้องกันการแข็งตัวของเลือดในปลาที่อยู่ในแถบขั้วโลก
  • โปรตีนช่วยสร้างเซลล์เนื้อเยื่อใหม่

การทานโปรตีน โดยเฉพาะในมื้อเย็น โปรตีนจะถูกนำมาใช้งานเมื่อเวลาเรานอนถึง 70% ซึ่งการทานโปรตีนจะช่วยให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก โปรตีน จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เสริมสร้างการเจริญเติบโต กระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "กลูคากอน" (Glucagon) ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายนำไขมันที่สะสมไว้ ออกมาใช้เป็นพลังงาน
การรับประทานโปรตีนเสริม สำหรับใครก็ตามที่ไม่สามารถรับประทานโปรตีนจากอาหารได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน การรับประทาน โปรตีนเสริมด้วยย่อมเป็นประโยชน์ โปรตีนเสริมสูตรที่ดีที่สุดทำจากถั่วเหลือง ไข่ขาว เวย์โปรตีน และนมปราศจากไขมัน ซึ่งมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน มีทั้งแบบน้ำ และแบบผง และในรูปที่ปราศจากคาร์โบไฮเดรต หรือไขมันเจือปน โดยทั่วไปแล้ว หนึ่งออนซ์( 2 ช้อนโต๊ะ) มีโปรตีน ประมาณ 26 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณเท่ากับโปรตีนที่คุณได้รับจากสเต๊กทีโบน ขนาด 3 ออนซ์
ขอขอบคุณขอมูลจาก: วิตามินไบเบิล, ดร.เอิร์ล มินเดลล์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น